ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คืออะไรและสำคัญอย่างไร

691 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Immune System

ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) คือ กลไกภายในร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่สามารถก่อให้โรคภัยไข้เจ็บ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ รวมไปถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบและสร้างกลไกการตอบสนอง เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ทำให้ระบบ ภายในร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ  เมื่อแบ่งภูมิคุ้มกันโรคตามชนิดของแหล่งที่มา สามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. Active naturally acquired immunity คือ การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังการติดเชื้อตามธรรมชาติ
    (natural infection) เช่น โรคหัด อีสุกอีใส
  2. Active artificially acquired immunity คือ การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังการให้วัคซีน
  3. Passive naturally acquired immunity คือ การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรงโดยที่ไม่ได้สร้างเอง เช่น ทารกในครรภ์ได้รับภูมิคุ้มกันผ่านทางรก หรือ ถ่ายทอดผ่านทาง
    colostrums ในน้ำนมแม่
  4. Passive artificially acquired immunity คือ การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับแอนติบอดี
    เช่น ได้รับเซรุ่ม หรือ gamma globulin (immunoglobulin)

หน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน

  • ป้องกันและทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
  • ทำหน้าที่จดจำ และต่อต้านสารที่เป็นอันตรายจากสิ่งแวดล้อม
  • ต่อสู้กับเซลล์ที่แปรสภาพผิดปกติ เช่น เนื้องอก เซลล์มะเร็ง

ภาวะและโรคผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน

  • โรคภูมิแพ้ (Allergies) เกิดเมื่อร่างกายเกิดการตอบสนองต่อสารที่ไม่เป็นอันตราย เช่น อาหาร หรือเกสรดอกไม้ โดยการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ก่อให้เกิดอาการแพ้ ตั้งแต่ คัดจมูก จาม หรืออาจรุนแรงถึงหายใจติดขัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • โรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune diseases) คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและโจมตีเซลล์ปกติในร่างกายของคุณ ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัสหรือโรคแอสเอลอี (SLE)
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency diseases) หากคุณมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณจะป่วยง่ายขึ้นและการติดเชื้อของคุณอาจยาวนานและรุนแรงขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษา มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม (genetic disorders) หรือการติดเชื้อไวรัส HIV ที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย และเพิ่มโอกาสเจ็บป่วยร้ายแรงได้
  • โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple myeloma) โรคมะเร็งกลุ่มนี้ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง

ปัจจัยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หากพักผ่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันสะสมไปเป็นนาน ๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่ออาการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในทางกลับกัน หากไม่ออกกำลังกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารเคมีชนิดดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกสดชื่น และภูมิต้านทานสูงขึ้น
  • รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การรับประทานน้ำตาลมาก ๆ และรับประทานผักผลไม้น้อยจะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่มีแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากพอ
  • เครียดสะสม ความเครียดส่งผลต่อต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง เพราะเมื่อในร่างกายมีความเครียดสูงขึ้น ฮอร์โมนความเครียดจะไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

  • ไม่สูบบุหรี่
  • เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควบคุมน้ำหนัก และความดันโลหิต
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

อาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวและที-เซลล์

  1. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยวิตามินซี ไบโอฟลาโวนอยด์และสารพฤกษเคมี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  2. ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาวและเกรปฟรุต มีวิตามินซี ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค
  3. ปลา มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และไขมันที่มีประโยชน์ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้นและช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. พริกหยวกสีแดง มีวิตามินซีเป็นสองเท่าของผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  5. โยเกิร์ต เป็นแหล่งของวิตามินดีและมีจุลินทรีย์มีชีวิตชนิดดี ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  6. ชาเขียว เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระแคทิชิน และกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า แอล-ธีอะนีน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการสร้างสารประกอบที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคให้กับที-เซลล์
  7. ขิง เปรียบเสมือนยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติและเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอาการเจ็บคอและภาวะอักเสบต่างๆ
  8. ขมิ้นชัน สมุนไพรที่เชื่อกันมานานว่าช่วยต่อต้านการอักเสบ สารเคอร์คูมินที่อยู่ภายในขมิ้นชันช่วยเพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของที-เซลล์

แหล่งที่มา:

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้